ธนาคารกรุงเทพ

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กรมเจรจาฯ จัดเต็ม 14-15 ส.ค.นี้เสวนาโอกาสทอง 4 ประเทศ AEC

                 กรมเจรจาฯ เดินหน้าสร้างความรู้เรื่องกฎระเบียบการค้าการลงทุนรองรับ AEC จัดสัมมนาใหญ่วันที่ 14-15 สิงหาคมนี้ เน้นประเด็นความท้าทายที่ไม่อาจมองข้ามทั้งของ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย
                นางพิรมล  เจริญเผ่า  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เนื่องจากทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการมุ่งเน้นสร้างความรับรู้ด้านกฎระเบียบ มาตรการด้านการค้าและการลงทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้เกิดความพร้อมในการเร่งปรับตัวรองรับการเข้าสู่ AEC ในปี 2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการจัดสัมมนาในเรื่องของกฎหมายการลงทุนใหม่ของเมียนมาร์ที่ประกาศใช้เมื่อปลายปี 2555 ไปเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
                 นางพิรมล กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเสริมสร้างความรู้ และในฐานะ AEC Coordination Agency กรมฯ จึงได้กำหนดจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขึ้นอีกครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 หัวข้อเรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกคือ กฎ ระเบียบด้านการค้าภาคบริการและการลงทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : ความท้าทายที่ไม่อาจมองข้ามในกัมพูชา ลาว และเวียดนามซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2556 เวลา 08.30-16.30 น.  
                ในวันที่ 14 นี้จะมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง การเปิดเสรีด้านการลงทุนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ในขณะที่ภาคของการเสวนาก็จะมีผู้แทนทั้งจากเวียดนาม ลาว และกัมพูชา มาให้ความรู้ทั้งในภาคเช้าและภาคบ่าย 
                นางพิรมล กล่าวว่า ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ กฎ ระเบียบด้านการค้าภาคบริการและการลงทุนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: ความท้าทายที่ไม่อาจมองข้ามในอินโดนีเซียโดยจะจัดในวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2556 เวลา 08.30-16.30 น. ซึ่งก็จะมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านโดยอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ส่วนภาคบ่ายในการเสวนาจะมีนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย และผู้แทนจากอินโดนีเซีย มาร่วมให้ความรู้
                กิจกรรมทั้ง 2 วันจะจัดขึ้น ณ ห้อง Salon B โรงแรมสวิสโฮเตล เลอ คองคอร์ด โดยทั้ง 2 เรื่อง ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่สำคัญยังมีบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายมาร่วมบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และธนาคารพาณิชย์ 5 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิการไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก  มาให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ (First come first serve) ด้วย จึงไม่น่าพลาดโอกาสนี้นางพิรมล กล่าว