ธนาคารกรุงเทพ

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คลังเซ็นเงินกู้น้ำ3.4แสนล้านกับ4แบงก์

สบน.ลงนามเงินกู้น้ำ 3.5 แสนล้านบาทกับ 4 สถาบันการเงินเรียบร้อยแล้ว แบงก์ออมสินกวาด 50% ของวงเงิน ส่วนที่เหลือ "กรุงเทพ-กสิกรไทย-กรุงไทย"


นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สบน.ได้ดำเนินการลงนามสัญญาเงินกู้เพื่อการลงทุนบริหารจัดการน้ำตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินกับสถาบันการเงินเต็มทั้งจำนวน 3.5 แสนล้านบาทไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้(24มิถุนายน)
ทั้งนี้ มีจำนวน 4 สถาบันการเงินที่เป็นผู้ชนะการประมูลวงเงินกู้ครั้งนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารกรุงไทย โดยธนาคารออมสินเป็นผู้ชนะวงเงินในการประมูลจำนวนมากที่สุดหรือ 50% ของวงเงินกู้ ส่วนที่เหลือจะเป็น 3 สถาบันการเงินดังกล่าว สำหรับอายุของเงินกู้จะอยู่ที่ 1 ปี นับจากวันที่มีการเบิกจ่าย ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะเฉลี่ยที่ 3.8% ต่อปี
นางสาวจุฬารัตน์ กล่าวว่า การเบิกจ่ายเงินกู้ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับงวดงานของการลงทุน ซึ่งขณะนี้ ทางสำนักงบประมาณได้ส่งรายละเอียดให้แก่สบน.เรียบร้อยแล้ว โดยระยะแรกของการเบิกจ่ายเงินกู้นั้น จะมีจำนวนเงินไม่มากนัก แต่จะมีจำนวนที่มากขึ้นในช่วงกลางและท้ายของการลงทุน ทั้งนี้ การลงทุนและระยะเวลาการเบิกจ่ายจะอยู่ภายในปี 2561
"แต่ละสัญญาที่เราเซ็นกู้ไปนั้นจะบอกเลยว่า เราจะเบิกจ่ายในช่วงปีใด ฉะนั้น แบงก์เขาก็จะรู้เวลาและเตรียมเม็ดเงินไว้ให้เรา โดยต้นทุนเงินกู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้มีการเบิกจ่ายเงิน"
ทั้งนี้ สบน.ได้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ดังกล่าวไปแล้วจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังเองก็มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินกู้ดังกล่าวที่อาจล่าช้า หรือ อาจจะไม่มีการเบิกจ่ายในบางสัญญา เพราะอาจเกิดข้อติดขัดที่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเงินกู้ที่ได้ลงนามไว้ แม้ว่า ในสัญญาจะไม่ได้มีการระบุถึงค่าปรับกรณีที่ไม่มีการเบิกจ่ายเงินก็ตาม แต่ก็จะส่งผลต่อสถาบันการเงินที่ต้องเตรียมสภาพคล่องไว้สำหรับโครงการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางสบน.ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสัญญากู้เงินดังกล่าว จะต้องแจ้งต่อสถาบันการเงินที่ชนะการประมูลเงินกู้ดังกล่าวเป็นเวลาล่วงหน้าก่อนที่จะมีหรือไม่มีการเบิกจ่ายเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินได้เตรียมการรองรับ
ทั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการคลัง ได้ทำหน้าที่เกาะติดโครงการลงทุนดังกล่าว เพื่อให้การลงทุนและการเบิกจ่ายเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด


ที่มา : Click!